วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

Anime No.46 : K-ON! けいおん!

 สวัสดีครับ หลังจากที่ได้ดูและรีวิว Bocchi The Rock! จบไปแล้วก็ได้ยินว่าเรื่องโบจจินี่มันเป็น K-ON! แห่งยุคเรวะเลยทีเดียว ว่าแล้วก็เลยไปหาเรื่องที่ว่ามาดูนั่นคือ K-ON! けいおん! (ชื่อภาษาไทยคือ เคอง! ก๊วนดนตรีแป๋วแหวว) เรื่องราวจะเป็นเช่นไรมาลองดูกันครับ


Ataya's Star :    ★★★★★

เรื่องย่อ :

    เรื่องราวเริ่มต้นที่รร.ซากุระงาโอกะ เมื่อสองสาวม.4ได้แก่ ริซึ ไทนากะ สาวน้อยทอมบอยและ มิโอ อากิยามะ สาวน้อยขี้อายอยากจะเข้าชมรมเคออง(ชมรมวงดนตรี)แต่เพราะสมาชิกรุ่นก่อนจบการศึกษาไปหมดแล้วเลยไม่สามารถจะเปิดเป็นชมรมได้อีกต่อไป ทั้งสองคนเลยต้องตามหาสมาชิกมาให้ครบ 4 คนก่อนถึงจะตั้งชมรมเคอองกลับมาใหม่ได้ ตอนนั้นเองก็ได้ สึมุกิ โคโตบุกิ ลูกคุณหนูที่สนใจในตัวพวกเธอเข้ามาร่วมด้วย และสุดท้ายก็ได้ ยุอิ ฮิราซาว่า สาวน้อยไร้เดียงสาผู้คิดว่าชมรมเคอองคงเป็นชมรมร้องรำทำเพลงธรรมดาๆก็เลยหลงเข้ามาสมัครเข้าชมรมอีกคนจนสามารถเปิดชมรมเคอองขึ้นมาอีกครั้งได้นั่นเอง 



ความคิดเห็น:

    บอกได้เลยว่าถ้าคุณกำลังตามหาอนิเมะที่เต็มไปด้วยความน่ารักของสาวๆม.ปลายละก็เรื่องนี้คือคำตอบสุดท้าย(มันก็ไม่ถึงขั้นโมเอะๆคิวหรอกนะ) ตัวละครก็ออกแบบมาได้น่ารักดีทีเดียวมีเรื่องราวแบ็คกลาวที่แตกต่างกันและลงตัว โดยเรื่องราวหลักๆจะดำเนินไปที่ห้องชมชมเคอองและเหตุการณ์ชีิวิตทั้งสามปีของนักเรียนม.ปลาย เรียกได้ว่าดูได้เรื่อยๆ สนุกสนานดีไม่มีดราม่าอะไรให้ปวดหัว มุกตลกที่ใส่มาก็ตลกขำๆพอใช้ได้  เหมาะสำหรับดูคลายเครียดเลยทีเดียวเชียว ด้านเพลงก็จะมีเพลงแนวน่ารักสดใสที่ร้องโดยยูอิจัง และแนวร็อคๆหน่อยร้องโดยมิโอะจัง ก็เรียกได้ว่ามีเพลงหลากหลายเลยทีเดียว

ข้อด้อย:

     เนื่องจากเนื้อเรื่องนี่แทบจะมีแต่ตัวละครผู้หญิง(รร.ซากุระงาโอกะดูเหมือนจะเป็นรร.สตรีล้วนอะนะ)มันก็เลยออกจะหวานๆแป้วๆเลี้ยนๆไปหน่อยสำหรับคนที่ไม่ชอบแนวสาวน้อยหญิงล้วนคิกคุอาโนเนะแบบนี้ก็อาจจะไม่ชอบก็ได้นะ แล้วจริงๆขึ้นชื่อว่าเป็นอนิเมะแนววงดนตรีก็จริงแต่ก็แทบไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับดนตรีซะเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เน้นกินน้ำชากินขนมพูดคุยกันซะมากกว่าด้วย คนที่หวังจะดูชีวิตนักดนตรีแบบจริงๆจังๆก็อาจผิดหวังนิดหน่อยกระมัง


 

    กล่าวโดยสรุป ถ้าคุณเครียดจากการเรียนการทำงานมาผมขอแนะนำให้ดูอนิเมะเรื่องนี้เป็นการผ่อนคลายได้อย่างดีเลยทีเดียว เนื้อหาสาระนอกจากความแป๋วแหววความน่ารักของเหล่าสาวๆในเรื่องแล้วก็จะได้ข้อคิดเรื่องความสัมพันธ์ของเพื่อนๆ รุ่นพี่รุ่นน้อง ที่ควรจะรักษาและให้ความสำคัญเอาไว้นั่นเอง (เรื่องนี้มีสองซีซันแล้วก็มีภาคหนังใหญ่อีกเรื่องนะครับ)

 

ส่งท้ายขายของหน่อยครับ ไลน์สติกเกอร์ของเฟย์จัง ->

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

Anime No.45 : Black Bullet ブラック・ブレット

 สวัสดีครับ ก่อนหน้านี้เขียนถึงเรื่องยุคสมัยกับแนวอนิเมะไป ก็เลยนึกออกว่าจริงๆมันมีอนิเมะอยู่เรื่องหนึ่งที่เคยดูซึ่งส่วนตัวรู้สึกว่าเรื่องนี้มันรวมๆแนวอนิเมะเกือบทั้งหมดมาไว้ในเรื่องเดียว เรื่องนั้นก็คือเรื่อง Black Bullet ブラック・ブレット (ชื่อภาษาไทย กระสุนมรณะ นัยน์ตาอสูร) เรื่องราวจะเป็นเช่นไรมาลองดูกันครับ


 

Ataya's Star :    ★★★★☆

เรื่องย่อ :

     เรื่องเริ่มขึ้นในปี 2021 เมื่อสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์จากไวรัสแกสเทียได้เข้ารุกรานมนุษยชาติ ทำให้มนุษย์ต้องอาศัยอยู่หลังกำแพงโมโนลิทซึ่งสร้างจากเหล็กวาราเนี่ยมที่สามารถกันสิ่งมีชีิวิตกลายพันธุ์ได้ อย่างไรก็ตามมีทารกที่ติดเชื้อไวรัสแกสเทียตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ที่คลอดออกมาจะมีดวงตาสีแดงและมีแต่เพศหญิง แต่ก็จะมีพลังเหนือมนุษย์ติดตัวมาด้วย หากระดัับไวรัสแกสเทียเพิ่มขึ้นมากเกินไปเด็กผู้หญิงเหล่านี้ก็จะกลายเป็นสัตว์ประหลาด ด้วยเหตุนี้เองเด็กผู้หญิงเหล่านี้เลยถูกเรียกว่า"เด็กที่ถูกสาป" และถูกบูลลี่เกลียดชังจากมนุษย์บางส่วนด้วย สิบปีให้หลังด้านกลุ่มรักษาความปลอดภัยเอกชนก็ได้ก่อตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์จากไวรัสแกสเทีย หนึ่งในนั้นมี Promoter หนุ่ม ม.ปลายชื่อ เรนทาโร่ ซาโทมิ และเด็กสาวที่ถูกสาปเป็น Initiator คู่หูของเรนทาโร่ชื่อว่า เอนจุ ไอฮาร่า ทั้งคู่อยู่ในสังกัดของบริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชนเทนโดซึ่งมี คิราร่า เทนโด เพื่อนวัยเด็กของเรนทาโร่เป็นเจ้าของ ทั้งเรนทาโร่และเอนจุต้องต่อสู้กับสัตว์ประหลาดกลายพันธุ์และผู้คนที่เกลียดชังเด็กที่ถูกสาปด้วยนั่นเอง 


 

ความคิดเห็น:

    เรื่องนี้เป็นแนวไซไฟที่เหมือนจะรวมอนิเมะหลายๆแนวเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งแนวสัตว์ประหลาดยักษ์ แนวมนุษย์ดัดแปลง แนวต่อสู้  แนวพลังจิตพลังเหนือมนุษย์ แถมด้วยความรักแบบโลลิคอนหน่อยๆ ดูแล้วก็สนุกดี ผมว่าเขาผสมผสานเรื่องหลายๆแนวเข้าไว้ด้วยกันได้ดีและลงตัวพอสมควรแหละ ในส่วนของไซไฟผมก็ว่าสมเหตุสมผลดี ไม่ได้เวอร์อะไรเกินไป (ฉากต่อสู้อาจจะเวอร์ไปนิดนึงก็เหอะ)

ข้อด้อย :

    พอเนื้อเรื่องดำเนินไปจะรู้สึกได้ว่ามันดาร์กขึ้นเรื่อยๆ เรื่องชะตากรรมของเด็กที่ต้องสาปก็คงโหดร้ายเกินไปสำหรับผู้ชมที่เป็นเด็กๆ ผมว่าตัวเด็กต้องสาปก็อาจจะเหมือนกับภาพสะท้อนของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส HIV ที่โดนสังคมรังเกียจหรือแม้แต่สมัยที่โควิดระบาดหนักก็มีการเหยียดเชื้อชาติคนเอเชียหนักเลยเหมือนกัน เรื่องนี้ก็ให้ข้อคิดแบบนี้เช่นเดียวกัน การที่คนเราจะไปเกลียดชังคนอื่นด้วยเหตุผลที่เขาแค่สีตาสีผมไม่เหมือนกับเราหรือติดเชื้ออะไรแบบนี้มันเป็นสิ่งที่เลวร้ายเกินไปจริงๆนะแหละ 

     กล่าวโดยสรุป เรื่องนี้ก็เป็นไซไฟแอ็คชันที่ดูได้สนุกดีครับ เนื้อเรื่องอาจจะขมไปหน่อยเลยไม่เหมาะสำหรับให้เด็กๆดู แต่ก็มีข้อคิดแทรกอยู่บ้างไม่ถึงกับว่าสู้กันอย่างเดียวอะไรแบบนั้น ตอนจบเหมือนจะยังมีต่อแต่ไม่แน่ใจว่าเขาจะทำภาคต่อหรือให้ไปอ่านไลท์โนเวทเอาเองละนะ ถ้าชอบแนวๆนี้ก็ลองหามาชมกันได้นะครับ

Official Anime Website -> https://www.black-bullet.net/index.html

 

สุดท้ายก็ขอขายของหน่อย เป็นนิยายแนววิทยาศาตร์เรื่องสั้นเกี่ยวกับAIและสิ่งแวดล้อมที่พังทลายที่ผมเขียนขึ้นมา ใครสนใจก็ลองซื้อหามาอ่านได้นะครับ 

 

Google Book -> https://play.google.com/store/books/details?id=GmG6EAAAQBAJ

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

Anime No.44 : Hokkaido Gals Are Super Adorable! 道産子ギャルはなまらめんこい

 สวัสดีครับ ช่วงนี้ผมกำลังวางแผนจะไปเที่ยวฮอกไกโดกับครอบครัวอยู่ก็เลยหาข้อมูลจากหลายๆแหล่งดู หนึ่งในนั้นก็คือการดูอนิเมะที่มีเรื่องดำเนินอยู่ในฮอกไกโด เรื่องใหม่ๆหน่อยที่เจอก็มีอยู่สองเรื่องคือ Golden Kamui (เรื่องนี้เป็นแนวย้อนยุค รอดูซีีซัน5ซีซันสุดท้ายอยู่ก็เลยขอดองไว้ก่อนละกันครับ) กับอีกเรื่องที่จะรีวิวในวันนี้ก็คือเรื่อง 道産子ギャルはなまらめんこい Hokkaido Gals Are Super Adorable! (ชื่อภาษาไทยคือ สาวแกลเมืองเหนือน่าฮักขนาด) เรื่องราวจะเป็นเช่นไรมาลองดูกันครับ


Ataya's Star :    ★★★★☆

เรื่องย่อ :

     เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อหนุ่มน้อย ซึบาซะ ชิกิ ซึ่งย้ายโรงเรียนจากโตเกียวมายังเมืองคิตามิในภูมิภาคฮอกไกโด ระหว่างที่นั่งแท็กซี่เขาตัดสินใจจะลงเดินกลางทางเพื่อสัมผัสกับบรรยากาศหน้าหนาวของฮอกไกโดดู ระหว่างทางอันหนาวเหน็บเขาก็ได้พบกับสาวแกล มินามิ ฟุยุคิ กำลังรอขึ้นรถบัสไปโรงเรียนอยู่  ทั้งคู่จึงได้ทำความรู้จักกันและด้วยเสน่ห์ของสาวแกลเมืองเหนือเลยทำให้ซึบาสะเริ่มจะหลงใหลชีวิตในฮอกไกโดขึ้นมาอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว


ความคิดเห็น :

    เรื่องนี้จะนำคุณเข้าสู่ชีวิตประจำวันของประชาชนชาวฮอกไกโด มีการแนะนำของกินที่คนฮอกไกโดชอบรับประทาน การจัดการกับความหนาวเหน็บในตอนที่หิมะตกหนักๆ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่คนฮอกไกโดชอบไปกันด้วย โดยเนื้อเรื่องก็จะเป็นแนวรักๆใคร่ๆของวัยรุ่น(ออกแนวฮาเร็มเพราะมีตัวเอกผู้ชายคนเดียวตัวเอกหญิงมาซะสามคน) ก็ว่าดูได้เรื่อยๆสนุกพอสมควรละนะครับ

ข้อด้อย :

    ในเรื่องมันก็มีฉากเซอร์วิสค่อนข้างจะเยอะ(ก็เกือบทุกตอนละนะ) ซึ่งจริงๆก็ไม่ต้องใส่มาซะขนาดนั้นก็ได้ สำหรับคนที่มาหาข้อมูลจะไปเที่ยวฮอกไกโดอย่างผมก็ว่าสถานที่เที่ยวในฮอกไกโดที่ใส่มามันก็น้อยไปหน่อยแต่ก็พอเข้าใจได้เพราะเรื่องมันเริ่มตอนฤดูหนาวที่มีแต่หิมะตกและเขาก็บอกว่าจริงๆคนฮอกไกโดพอหน้าหนาวแล้วก็จะอยู่กันแต่ในบ้านไม่ค่อยออกไปไหนกันนะแหละ(ก็มันเล่นติดลบสิบกว่าองศานี่ก็คงไม่มีใครจะไปเที่ยวข้างนอกกันอะนะ) 

    กล่าวโดยสรุป เรื่องนี่ก็เป็นแนววัยรุ่นวุ่นรักที่มีฉากหลังเป็นเมืองในฮอกไกโดนั่นแหละครับ เนื้อเรื่องก็ดูได้สนุกดีไม่ได้มีดราม่าอะไรมากมาย มีฉากเซ็กซี่เซอวิสเยอะไปหน่อยก็เลยอาจจะไม่เหมาะสำหรับให้เด็กเล็กๆดู สำหรับใครที่อยากจะไปเที่ยวฮอกไกโดช่วงฤดูหนาวก็ลองหามาดูกันได้นะครับ 


ปิดท้ายขายของ สติกเกอร์ไลน์ลูกเจี๊ยบจ้า ->



 

วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

Anime Special 11 : แนวอนิเมะกับยุคสมัย アニメジャンルと時代

 สวัสดีครับ เพราะเป็นคนที่อยู่มานาน ก็เลยเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆอย่างในสังคมรวมไปถึงแนวอนิเมะที่เป็นที่นิยมในแต่ละยุคสมัย วันนี้ก็ลองมีรวบรวมเขียนเอาไว้ดู เพราะว่าเป็นความเห็นส่วนตัวซะเยอะหากมีข้อผิดพลาดประการใดก็ขออภัยล่วงหน้าไว้ด้วยนะครับ


1. ยุค70-80 ยุคแห่งอนิเมะแนวไซไฟ 

    ยุคนี้เป็นยุคที่เริ่มหลังญี่ปุ่นผ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 มาหมาดๆ ก็กำลังเข้าสู่เฟสของการฟื้นฟูประเทศ จึงเป็นยุคที่สังคมเริ่มให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ มีความต้องการนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นายช่าง เป็นจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่อนิเมะในยุุคนี้จะเน้นไปที่แนวไซไฟกันเป็นส่วนใหญ่ เช่น เจ้าหนูอะตอม มาชินก้าแซด รวมมาถึงเรื่องที่แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังดังอยู่อย่างโดราเอม่อน กันดัม หรือมาครอสก็ตามที (แม้แต่หนังที่มีคนแสดงอย่างอุลตร้าแมน ไอ้มดแดง หรือพวกขบวนการมนุษย์ไฟฟ้า ตำรวจอวกาศก็ยังจัดอยู่ในหมวดไซไฟอยู่ดีแหละ)

Source : https://tezukaosamu.net/jp/anime/44.html


2. ยุค90ตอนต้น ยุคแห่งอนิเมะแนวต่อสู้

    ช่วงต้นๆยุคนี้แนวอนิเมะที่โดดเด่นขึ้นมาก็จะออกแนวต่อสู้ซะเป็นส่วนมาก ตั้งแต่เรื่องคินนิคุแมน ดราก้อนบอล เซนต์เซย่า หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ แม้แต่อนิเมะแนวขำขันรักๆใคร่ๆก็ยังตั้งมีการใส่เซ็ตติ้งการต่อสู้เข้าไปเช่นเรื่องรันม่า1/2 ส่วนสาเหตุที่ทำไมแนวต่อสู้ถึงได้เป็นที่นิยมขึ้นมาก็ไม่แน่ชัดนัก สันนิฐานเป็นการส่วนตัวว่าช่วงนี้เด็กๆญี่ปุ่นเจนเอ็กซ์น่าจะอินกับการศิลปะการต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นมวยปล้ำที่มีมาก่อนยุคนี้แล้ว(อนิเมะที่สะท้อนความนิยมมวยปล้ำยุคเก่าๆหน่อยก็หน้ากากเสือนะแหละ ยุค80-90ก็จะเป็นคินนิคุแมน) หรือแม้แต่กีฬาต่อสู้อย่างคาราเต้ ซูโม่ มวย และคิกบอกซิ่งที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในยุคนี้ด้วย หรือไม่ก็อาจจะเป็นอิทธิพลจากภาพยนต์แนวกังฟูฮ่องกงที่กำลังดังอยู่ก็มีส่วนอยู่ไม่มากก็น้อย ก็เป็นไปได้ว่าทางทีมผู้สร้างมังงะอนิเมะก็คงจะมองเห็นความนิยมที่ว่าในหมู่เด็กๆก็เลยสร้างงานประเภทนี้ขึ้นมาตอบสนองตลาดก็เป็นได้ (แม้แต่ตลาดเกมก็ยังออกพวกเกมต่อสู้อย่าง Street Fighter เลยด้วยซ้ำ) มองอีกด้านหนึ่งก็คงอยากจะสอนกลายๆให้เด็กๆรู้จักอดทนรู้จักฝึกฝนตัวเองเหมือนพวกตัวเอกก็เป็นได้

Credit : Dragon Ball

 

 

3. ยุค 90 กลางๆถึงปลายๆ ยุคแห่งอนิเมะแนวพลังจิต

    กลางๆยุค90ไปจนถึงเกือบปลายๆ ก็ยังมีบรรยากาศของสงครามเย็นระหว่างอเมริกากับโซเวียต หนึ่งในหัวข้อยอดฮิตในยุคนี้ก็คือเรื่องการค้นคว้าด้านพลังจิต ทั้งสองฝ่ายก็มีข่าวว่ามีการใช้ผู้มีพลังจิตในการสอดแนมหรืออ่านใจคู่ต่อสู้ด้วย(ใครดู Spy x Family มันก็คืออาหมวยอาเนียจังนะแหละนะ) ในช่วงนี้ก็เลยมีข่าวพวกที่อ้างว่ามีพลังจิต สามารถขยับข้าวของได้โดยไม่แตะ สะกดจิตอ่านใจได้ หรือแม้แต่มุขใช้พลังจิตงอช้อนได้ก็มาจากช่วงนี้แหละ จึงไม่แปลกที่อนิเมะยุคนี้จะมีตัวเอกที่มีพลังจิตอยู่เยอะแยะไปหมด เท่าที่จำได้ก็อย่างเรื่อง Orange road , มามิ สาวน้อยพลังจิต และที่ดังสุดๆก็เรื่อง AKIRA นะแหละ (จริงๆจะรวมพวกสาวน้อยเวทมนต์อย่างเซลเลอร์มูนเข้าไปก็ได้อะนะ เพราะพลังของเหล่าเซเลอร์มันก็ออกแนวพลังจิตมากกว่าเป็นเวทมนต์ที่ต้องร่ายเวท หรือแม้แต่อีวานเกเลี่ยนพวกม่านพลังAT-Fieldก็เหมือนเป็นพลังจิตมากกว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าด้วย) ซึ่งก็แน่นอนว่าพวกเด็กๆยุคนี้ก็คงจะอินกับพวกพลังจิตอะไรแบบนี้จนคนแต่งเรื่องเขาก็ต้องอิงกระแสตามระเบียบละ

Credit : AKIRA

 

4. ยุคต้นปี 2000  ยุคของแนวโมเอะ

     จริงๆพวกโอตาคุนี่ก็มีมานานแล้ว แต่ช่วงยุคต้นปี 2000 นี่แหละที่ว่าเป็นยุคทองของเหล่าโอตาคุก็ว่าได้ สาเหตุหนึ่งก็เพราะละครเรื่อง Train Man (電車男:Densha Otoko)ที่มีตัวเอกเป็นโอตาคุตัวพ่อซึ่งมันก็ดังพอสมควรเลยทีเดียว สังคมเลยเริ่มยอมรับการมีอยู่ของเหล่าโอตาคุซึ่งเมื่อก่อนก็จะโดนดูถูกสารพัดจากสังคมแต่ไปๆมาๆสิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้กลับกลายเป็นการจับจ่ายใช้ส่อยสินค้าจากอนิเมะเรื่องโปรดของเหล่าโอตาคุนี่แหละ(พูดได้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเกลียดปลาไหลแต่ก็กินน้ำแกงละนะ) อนิเมะในช่วงเวลานี้ก็เลยจะตอบสนองความต้องการของเหล่าโอตาคุเป็นพิเศษ มันก็จะออกแนวโมเอะแนวน่ารักตาโตตาหวานกันซะเยอะ รวมถึงพวกแนวฮาเร็มแนวนางเอกซึนเดเระก็เริ่มมีเยอะขึ้นเช่นกัน ยกตัวอย่างก็เช่นเรื่อง Love Hina , Chobits, Full metal panic, Digicharat, The Melancholy of Haruhi Suzumiya และอื่นๆอีกมากมาย 

credit : Love Hina


5. ยุคหลังปี 2010 ยุคของแนวต่างโลก

    หลังปี 2000 ต้นๆเป็นต้นมาอนิเมะก็มีความหลากหลายขึ้น อันเป็นผลมาจากนโยบาลของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เล็งเห็น subculture ของพวกโอตาคุว่าอนิเมะมันทำรายได้เข้าประเทศได้นิหว่า ช่วงประมาณปี 2013 ก็มีนโยบาย Cool Japan ของนายกอาเบะ ซึ่งก็เป็นการเอาของดีของญี่ปุ่นเป็นจุดขายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ก็มีทั้งโอท๊อปสินค้าท้องถิ่น อาหารญี่ปุ่นและก็รวมอนิเมะอยู่ในนั่นด้วย(คล้ายๆกับตอนนี้ที่รัฐบาลไทยชี้นิ้วไปไหนก็เป็น Soft Power ไปซะหมดนะแหละ) จนกระทั้งการมาถึงของอนิเมะแนวต่างโลก(異世界 : Isekai) ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องแรกแต่คิดว่าเรื่องที่น่าจะดังๆเลยก็คงเป็นเรื่อง Sword Art Online ที่เป็นแนวไปต่างโลกในเกมเสมือนจริง กับอีกเรื่องก็คงเป็นเรื่อง RE:Zero ที่ตัวเอกก็ไปพจญภัยตายซ้ำตายซากในโลกแฟนตาซีน่ะแหละ นับจากนั้นเป็นต้นมาอนิเมะแนวไปต่างโลกนี่ก็พรั่งพรูออกมาราวกับน้ำตกเขื่อนแตก ให้เดาก็คงเป็นเพราะว่าเด็กๆรุ่นปัจจุบันนี้น่าจะโตมากับเกมออนไลน์และภาพยนต์แนวแฟนตาซีอย่าง Lord of the rings หรือ แฮรี่พอตเตอร์ ก็เลยน่าจะขายแนวๆแฟนตาซีเวทมนต์อะไรแบบนี้ได้ง่ายกว่าแบบอื่นๆละกระมัง 

credit : Re:Zero

 

    กล่าวโดยสรุป ในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็จะมีแนวผลงานที่โดดเด่นออกมามากกว่าแนวอื่นๆ ซึ่งก็คงเป็นไปตามสมัยนิยมละครับ สำหรับผมที่เป็นเด็กที่โตมากับแนวไซไฟแนวต่อสู้ก็คงจะอินกับแนวแบบนี้มากกว่าแนวอื่นๆ ส่วนคนอื่นจะชอบแนวไหนก็คงไม่มีผิดไม่มีถูกอะไร ถ้าดูแล้วสนุกมีความสุขก็ดูไปเถอะครับ


สุดท้ายก็ขอขายของหน่อยครับ มังงะ Remember 1999 ประธานใจร้ายกับยัยจอมตื้อ ->