สวัสดีครับ เพราะเป็นคนที่อยู่มานาน ก็เลยเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆอย่างในสังคมรวมไปถึงแนวอนิเมะที่เป็นที่นิยมในแต่ละยุคสมัย วันนี้ก็ลองมีรวบรวมเขียนเอาไว้ดู เพราะว่าเป็นความเห็นส่วนตัวซะเยอะหากมีข้อผิดพลาดประการใดก็ขออภัยล่วงหน้าไว้ด้วยนะครับ
1. ยุค70-80 ยุคแห่งอนิเมะแนวไซไฟ
ยุคนี้เป็นยุคที่เริ่มหลังญี่ปุ่นผ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 มาหมาดๆ ก็กำลังเข้าสู่เฟสของการฟื้นฟูประเทศ จึงเป็นยุคที่สังคมเริ่มให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ มีความต้องการนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นายช่าง เป็นจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่อนิเมะในยุุคนี้จะเน้นไปที่แนวไซไฟกันเป็นส่วนใหญ่ เช่น เจ้าหนูอะตอม มาชินก้าแซด รวมมาถึงเรื่องที่แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังดังอยู่อย่างโดราเอม่อน กันดัม หรือมาครอสก็ตามที (แม้แต่หนังที่มีคนแสดงอย่างอุลตร้าแมน ไอ้มดแดง หรือพวกขบวนการมนุษย์ไฟฟ้า ตำรวจอวกาศก็ยังจัดอยู่ในหมวดไซไฟอยู่ดีแหละ)
Source : https://tezukaosamu.net/jp/anime/44.html |
2. ยุค90ตอนต้น ยุคแห่งอนิเมะแนวต่อสู้
ช่วงต้นๆยุคนี้แนวอนิเมะที่โดดเด่นขึ้นมาก็จะออกแนวต่อสู้ซะเป็นส่วนมาก ตั้งแต่เรื่องคินนิคุแมน ดราก้อนบอล เซนต์เซย่า หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ แม้แต่อนิเมะแนวขำขันรักๆใคร่ๆก็ยังตั้งมีการใส่เซ็ตติ้งการต่อสู้เข้าไปเช่นเรื่องรันม่า1/2 ส่วนสาเหตุที่ทำไมแนวต่อสู้ถึงได้เป็นที่นิยมขึ้นมาก็ไม่แน่ชัดนัก สันนิฐานเป็นการส่วนตัวว่าช่วงนี้เด็กๆญี่ปุ่นเจนเอ็กซ์น่าจะอินกับการศิลปะการต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นมวยปล้ำที่มีมาก่อนยุคนี้แล้ว(อนิเมะที่สะท้อนความนิยมมวยปล้ำยุคเก่าๆหน่อยก็หน้ากากเสือนะแหละ ยุค80-90ก็จะเป็นคินนิคุแมน) หรือแม้แต่กีฬาต่อสู้อย่างคาราเต้ ซูโม่ มวย และคิกบอกซิ่งที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในยุคนี้ด้วย หรือไม่ก็อาจจะเป็นอิทธิพลจากภาพยนต์แนวกังฟูฮ่องกงที่กำลังดังอยู่ก็มีส่วนอยู่ไม่มากก็น้อย ก็เป็นไปได้ว่าทางทีมผู้สร้างมังงะอนิเมะก็คงจะมองเห็นความนิยมที่ว่าในหมู่เด็กๆก็เลยสร้างงานประเภทนี้ขึ้นมาตอบสนองตลาดก็เป็นได้ (แม้แต่ตลาดเกมก็ยังออกพวกเกมต่อสู้อย่าง Street Fighter เลยด้วยซ้ำ) มองอีกด้านหนึ่งก็คงอยากจะสอนกลายๆให้เด็กๆรู้จักอดทนรู้จักฝึกฝนตัวเองเหมือนพวกตัวเอกก็เป็นได้
Credit : Dragon Ball |
3. ยุค 90 กลางๆถึงปลายๆ ยุคแห่งอนิเมะแนวพลังจิต
กลางๆยุค90ไปจนถึงเกือบปลายๆ ก็ยังมีบรรยากาศของสงครามเย็นระหว่างอเมริกากับโซเวียต หนึ่งในหัวข้อยอดฮิตในยุคนี้ก็คือเรื่องการค้นคว้าด้านพลังจิต ทั้งสองฝ่ายก็มีข่าวว่ามีการใช้ผู้มีพลังจิตในการสอดแนมหรืออ่านใจคู่ต่อสู้ด้วย(ใครดู Spy x Family มันก็คืออาหมวยอาเนียจังนะแหละนะ) ในช่วงนี้ก็เลยมีข่าวพวกที่อ้างว่ามีพลังจิต สามารถขยับข้าวของได้โดยไม่แตะ สะกดจิตอ่านใจได้ หรือแม้แต่มุขใช้พลังจิตงอช้อนได้ก็มาจากช่วงนี้แหละ จึงไม่แปลกที่อนิเมะยุคนี้จะมีตัวเอกที่มีพลังจิตอยู่เยอะแยะไปหมด เท่าที่จำได้ก็อย่างเรื่อง Orange road , มามิ สาวน้อยพลังจิต และที่ดังสุดๆก็เรื่อง AKIRA นะแหละ (จริงๆจะรวมพวกสาวน้อยเวทมนต์อย่างเซลเลอร์มูนเข้าไปก็ได้อะนะ เพราะพลังของเหล่าเซเลอร์มันก็ออกแนวพลังจิตมากกว่าเป็นเวทมนต์ที่ต้องร่ายเวท หรือแม้แต่อีวานเกเลี่ยนพวกม่านพลังAT-Fieldก็เหมือนเป็นพลังจิตมากกว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าด้วย) ซึ่งก็แน่นอนว่าพวกเด็กๆยุคนี้ก็คงจะอินกับพวกพลังจิตอะไรแบบนี้จนคนแต่งเรื่องเขาก็ต้องอิงกระแสตามระเบียบละ
Credit : AKIRA |
4. ยุคต้นปี 2000 ยุคของแนวโมเอะ
จริงๆพวกโอตาคุนี่ก็มีมานานแล้ว แต่ช่วงยุคต้นปี 2000 นี่แหละที่ว่าเป็นยุคทองของเหล่าโอตาคุก็ว่าได้ สาเหตุหนึ่งก็เพราะละครเรื่อง Train Man (電車男:Densha Otoko)ที่มีตัวเอกเป็นโอตาคุตัวพ่อซึ่งมันก็ดังพอสมควรเลยทีเดียว สังคมเลยเริ่มยอมรับการมีอยู่ของเหล่าโอตาคุซึ่งเมื่อก่อนก็จะโดนดูถูกสารพัดจากสังคมแต่ไปๆมาๆสิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้กลับกลายเป็นการจับจ่ายใช้ส่อยสินค้าจากอนิเมะเรื่องโปรดของเหล่าโอตาคุนี่แหละ(พูดได้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเกลียดปลาไหลแต่ก็กินน้ำแกงละนะ) อนิเมะในช่วงเวลานี้ก็เลยจะตอบสนองความต้องการของเหล่าโอตาคุเป็นพิเศษ มันก็จะออกแนวโมเอะแนวน่ารักตาโตตาหวานกันซะเยอะ รวมถึงพวกแนวฮาเร็มแนวนางเอกซึนเดเระก็เริ่มมีเยอะขึ้นเช่นกัน ยกตัวอย่างก็เช่นเรื่อง Love Hina , Chobits, Full metal panic, Digicharat, The Melancholy of Haruhi Suzumiya และอื่นๆอีกมากมาย
credit : Love Hina |
5. ยุคหลังปี 2010 ยุคของแนวต่างโลก
หลังปี 2000 ต้นๆเป็นต้นมาอนิเมะก็มีความหลากหลายขึ้น อันเป็นผลมาจากนโยบาลของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เล็งเห็น subculture ของพวกโอตาคุว่าอนิเมะมันทำรายได้เข้าประเทศได้นิหว่า ช่วงประมาณปี 2013 ก็มีนโยบาย Cool Japan ของนายกอาเบะ ซึ่งก็เป็นการเอาของดีของญี่ปุ่นเป็นจุดขายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ก็มีทั้งโอท๊อปสินค้าท้องถิ่น อาหารญี่ปุ่นและก็รวมอนิเมะอยู่ในนั่นด้วย(คล้ายๆกับตอนนี้ที่รัฐบาลไทยชี้นิ้วไปไหนก็เป็น Soft Power ไปซะหมดนะแหละ) จนกระทั้งการมาถึงของอนิเมะแนวต่างโลก(異世界 : Isekai) ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องแรกแต่คิดว่าเรื่องที่น่าจะดังๆเลยก็คงเป็นเรื่อง Sword Art Online ที่เป็นแนวไปต่างโลกในเกมเสมือนจริง กับอีกเรื่องก็คงเป็นเรื่อง RE:Zero ที่ตัวเอกก็ไปพจญภัยตายซ้ำตายซากในโลกแฟนตาซีน่ะแหละ นับจากนั้นเป็นต้นมาอนิเมะแนวไปต่างโลกนี่ก็พรั่งพรูออกมาราวกับน้ำตกเขื่อนแตก ให้เดาก็คงเป็นเพราะว่าเด็กๆรุ่นปัจจุบันนี้น่าจะโตมากับเกมออนไลน์และภาพยนต์แนวแฟนตาซีอย่าง Lord of the rings หรือ แฮรี่พอตเตอร์ ก็เลยน่าจะขายแนวๆแฟนตาซีเวทมนต์อะไรแบบนี้ได้ง่ายกว่าแบบอื่นๆละกระมัง
credit : Re:Zero |
กล่าวโดยสรุป ในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็จะมีแนวผลงานที่โดดเด่นออกมามากกว่าแนวอื่นๆ ซึ่งก็คงเป็นไปตามสมัยนิยมละครับ สำหรับผมที่เป็นเด็กที่โตมากับแนวไซไฟแนวต่อสู้ก็คงจะอินกับแนวแบบนี้มากกว่าแนวอื่นๆ ส่วนคนอื่นจะชอบแนวไหนก็คงไม่มีผิดไม่มีถูกอะไร ถ้าดูแล้วสนุกมีความสุขก็ดูไปเถอะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น