สวัสดีครับ ในที่สุดก็มาถึงการรีวิวซีรี่ย์มาครอสภาคที่เหลืออยู่เป็นภาคสุดท้าย นั่นก็คือมาครอสภาคแรก Super Spacetime Fortress Macross 超時空要塞マクロス ผมจำได้ว่าเคยดูเรื่องนี้สมัยตอนยังเป็นเด็กๆ ตอนนั้นน่าจะเอามาฉายที่ช่อง 5 แต่เปลี่ยนชื่อเป็น Robotech เป็นการเอามาครอสไปย้อมขาว(White Washing)ที่อเมริกาแบบที่ชอบทำกับอนิเมะหรือเกมที่มาจากญี่ปุ่นในสมัยนั้นน่ะแหละ จำได้ว่าพระเอกดันชื่อว่าริคฮันเตอร์ไม่ใช่อิจิโจฮิคารุ ส่วนเนื้อหานี่เรียกได้ว่าจำอะไรไม่ได้เท่าไร(เพราะยังเด็กมากอยู่แหละ)จำได้ว่ามันเป็นเรื่องของรักสามเศร้า มีอาหมวยร้องเพลง มีเครื่องบินที่แปลงร่างเป็นหุ่นยนต์ได้ แล้วก็มีมนุษย์ต่างดาวยักษ์บุกโลก ว่าแล้วเราก็มาดูรายละเอียดกันดีกว่าครับ
Ataya's Star : ★★★★★
เรื่องย่อ :
เรื่องเริ่มต้นขึ้นในปีค.ศ 1999 เมื่อมียานอวกาศขนาดยักษ์ตกลงมาบนโลก เมื่อสหประชาชาติ U.N Spacy ได้เข้าไปตรวจสอบจึงได้ทราบว่าเป็นยานของมนุษย์ต่างดาว จึงได้ทำการฟื้นฟูและศึกษาเทคโนโลยี่ต่างๆที่อยู่ในยานเพื่อนำมาพัฒนายุทโธปกรณ์ของตัวเอง เวลาผ่านไปถึงปี 2009 ในงานเปิดตัวยานที่ฟื้นฟูเสร็จ(ให้ชื่อว่า Macross SDF-1) ฮิคารุ อิจิโจ นักบินผลเรือนก็ได้เข้าป่วนงาน ตอนนั้นเองยานมาครอสก็จับสัญญานการรุกรานจากห้วงอวกาศได้จึงทำการยิงปืนใหญ่ใส่กลุ่มกองยานอวกาศ การปะทะกันกับมนุษย์ต่างดาวจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จับพลัดจับผลูฮิคารุก็ได้ขับเครื่องบินรบที่ถูกพัฒนาให้แปลงร่างเป็นหุ่นยนต์ได้ Valkyrie VF1 ระหว่างความวุ่นวายฮิคารุได้ไปช่วย ลินน์ มินเมย์ หลานสาวเจ้าของร้านอาหารจีนเข้า ตอนที่จะพามินเมย์อพยพเข้ายานมาครอสนั่นเองที่เขาได้พบกับ มิสะ ฮายาเสะ โอเปอเรเตอร์สุดเฮียบของมาครอส เมื่อทั้งคู่เข้ามาในมาครอสได้กัปตันก็ได้สั่งให้ทำการโพล์ด(วาร์ป)หนีแต่เพราะไม่เคยทำการโพล์ดมาก่อนจึงเกิดการผิดพลาดไปโผล่ที่ดาวพลูโต ยานมาครอสจึงต้องหาทางกลับมายังโลกให้จงได้นั่นเอง
ความคิดเห็น :
ต้องบอกว่ามาครอสเป็นอนิเมะแนวไซไฟเรื่องแรกที่ผมดูแล้วประทับใจ เพราะอนิเมะแนวหุ่นยนต์สู้รบสมัยนั่นก็มีไม่ใช่น้อย แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นแนวสู้กันลูกเดียว ตัวดีก็ดีตัวร้ายก็ร้าย (ถ้านึกไม่ออกก็นึกถึงพวก Transformers หรือกันดัมนะแหละครับ) แต่มาครอสนี่มาแปลกคือนอกจากเป็นแนวสงครามอวกาศแล้วยังใส่ความเป็นรักสามเศร้า ทำให้เราลุ้นไปกับฮิคารุว่าเขาจะเลือกใครระหว่างสาวน้อยไอดอลมินเมย์หรือคุณป้าสายทหารอย่างมิสะ นอกจากนี้ยังใส่เสียงเพลงเพราะๆของคุณ มาริ อิจิมะ มาร้องเป็นลินน์มินเมย์อีก (ส่วนแนวเพลงในภาคนี้จะเป็นแนว City Pop แนวดนตรีสังเคราะห์มีเสียงเบสหนุมหนับชัดเจนเรียกได้ว่าเป็นแนวตะวันตกที่ฮิตในยุคสมัยนั้นนะแหละ ถ้าเทียบกับบ้านเราก็น่าจะเป็นวงคอมโบสตริงอย่าง The Impossible หรือ Pink Panther นั่นแหละนะ) เรียกได้ว่ามาครอสเป็นอะไรที่ผสมทุกอย่างอย่างลงตัว ดูแล้วก็ไม่น่าเบื่อ คนที่ไม่ได้ชอบไซไฟจ๋าก็พอดูได้ละครับ
ข้อด้อย:
เนื่องจากมาครอสภาคแรกนี่ฉายประมาณปี 1982 ซึ่งมันก็เก่ามากๆแล้ว ถ้าไปดูในแบบซีรี่ย์บางทีจะเห็นรอยแผ่นอครีลิกที่เขาวาดภาพลงไปด้วยซ้ำไป ภาพตัวละครบางทีก็วาดมาไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร พล็อตเรื่องบางอย่างก็ดูตลกๆไม่สมเหตุสมผลอยู่บ้าง ถ้าใครขี้เกียจดูก็ให้ดูภาคหนังใหญ่ Macross : Do you remeber love ? เอาก็ได้ (ผมคิดว่าตอนที่เขาสร้างภาคซีรีย์นี่ผู้กำกับอาจจะยังอายุน้อยก็เลยเขียนบทขาดๆเกินๆไปนิด พอเขาทำหนังใหญ่ก็เลยเอาโครงเรื่องเดิม ตัดมุกตลก ตัดบทที่ไม่สำคัญออกไปแล้วเขียนบทให้สมจริงสมจังนะแหละ มันเลยกลายเป็นธรรมเนียมสำหรับมาครอสในภาคต่อๆมาที่จะมีภาคหนังใหญ่ที่บทก็คล้ายๆกับภาคซีรีย์อาจจะแค่ปรับบทหรือเพิ่มเพลง พอน้องๆหนูๆที่ไม่เข้าใจมาดูก็จะบ่นว่าทำไมมันเหมือนกับที่ดูในซีรีย์เลยไม่เห็นต่างอะไรอะนะ)
สำหรับภาคหนังใหญ่ Do you remember love อีกสิ่งที่สุดยอดคือมันเป็นการวาดด้วยมือทั้งหมดเพราะสมัยนั้นยังไม่มีCGอะไรทั้งนั้น จะเห็นความสุดยอดของอนิเมะไซไฟยุค80-90ที่สมัยนี้แทบไม่มีใครทำกันแล้ว แต่ถ้าใครอยากได้ความลึกของเนื้อหาก็ให้ลองดูเวอร์ชันซีรี่ย์ฉายทีวีนะครับ อย่างเช่นเรื่องของเฮียแม็กสมัยหนุ่มๆว่าเก่งกาจขนาดไหนแล้วไปได้กับมิเรียได้ยังไง(ซึ่งในเวอร์ชันหนังใหญ่ตัดออกไปเกือบหมดละนะ) อีกอย่างตอนผมเด็กๆดูเรื่องนี้แล้วก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ก็ชอบวาลคีรี่ชอบมาครอสไปตามประสาเด็กน้อย แต่พอเป็นผู้ใหญ่แล้วมาดูอีกรอบกลายเป็นว่าเรื่องนี้มันซ่อนมุกอะไรๆที่มีแต่ผู้ใหญ่ดูแล้วถึงจะขำอยู่พอสมควร รวมถึงความลึกซึ้งที่เด็กๆดูไปก็คงไม่เข้าใจ
ว่าที่จริงมาครอสนี่มีอะไรลึกซึ้งซ่อนๆไว้อีกเพียบ ซึ่งถ้ามีโอกาสผมจะเขียนถึงอีกทีหลังนะครับ
สุดท้ายก็ขอขายของหน่อย เป็นนิยายแนววิทยาศาตร์เรื่องสั้นเกี่ยวกับAIและสิ่งแวดล้อมที่พังทลายที่ผมเขียนขึ้นมา ใครสนใจก็ลองซื้อหามาอ่านได้นะครับ
Google Book -> https://play.google.com/store/books/details?id=GmG6EAAAQBAJ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น